ต่างชาติตื่นตัว ใช้ “การเจริญสติ” ปลูกฝังคุณธรรมในเด็ก

Last updated: 5 ส.ค. 2559  | 

ต่างชาติตื่นตัว ใช้ “การเจริญสติ” ปลูกฝังคุณธรรมในเด็ก

ต่างชาติตื่นตัว ใช้ “การเจริญสติ” ปลูกฝังคุณธรรมในเด็ก
นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ

ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา คนในโลกสมัยใหม่ที่มีความรู้เกิดขึ้นมากมาย สามารถคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆตลอดเวลา สร้างความเจริญทางวัตถุอย่างมาก ทุกประเทศแข่งขันกันสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของผู้คนดีขึ้น แต่ผลปรากฏว่า คนกลับมีความสุขลดน้อยลง ความปลอดภัยในชีวิตลดลง คนจนมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำมากขึ้น การกระทำผิดศีลธรรมมากขึ้นอย่างชัดเจนเหมือนกันทุกประเทศ

ดังนั้น ประเทศต่างๆ จึงพยายามปฏิรูประบบการศึกษาของตนเอง สร้างคนให้มีความรู้คู่คุณธรรมให้ได้ แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไร?

เพราะการทำให้คนมีความรู้นั้น ส่วนใหญ่จะทำได้แล้ว แต่ทำให้คนมีคุณธรรมยังเป็นปัญหา ซึ่งขณะนี้นักการศึกษากำลังคิดกันอยู่ ว่าจะมีวิธีการอย่างไรในการสร้างเด็กให้โตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณธรรม

ท่านผู้อ่านครับ เด็กนักเรียนในอเมริกา ก็จะคล้ายเด็กในเมืองใหญ่ๆทั่วโลก คือ ปัญหาเรื่องความเครียดในการเรียน การเรียนตกต่ำ ปัญหาเรื่องความประพฤติ เด็กใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ความเครียดทำให้ศักยภาพในการเรียนรู้ของสมองเด็กลดลง เด็กจะมีปัญหาในการเข้ากับเพื่อน การแสดงออกของเด็กจะไม่ดี เป็นคนคุยไม่สนุก เพื่อนไม่ชอบ ความคิดสร้างสรรค์ลดลง เด็กโตต้องแข่งกันกวดวิชา เพื่อสอบเข้าเรียนในสถาบันที่มีชื่อเสียงให้ได้ เพื่อให้มีอาชีพที่ดี ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เราควรจะให้เด็กได้เรียนในสาขาวิชาที่ตนเองถนัด ซึ่งก็จะต่างกันออกไป ไม่กระจุกตัวอยู่กับอาชีพใดอาชีพหนึ่ง และพัฒนาด้านคุณธรรมจริยธรรมพร้อมกันไปด้วย

เรื่องของคุณธรรมเป็นหน้าที่ของแต่ละบุคคล ที่จะพัฒนาจิตใจตนเองให้เป็นคนดี มีเหตุผล คนอื่นจะมาช่วยให้เป็นคนดีไม่ได้ เราต้องฝึกของเราเอง สถาบันการศึกษาสอนได้แต่วิชาการ และปลูกฝังคุณธรรมให้เรา ครูทุกคนล้วนสอนให้เป็นคนดี สอนว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ เราก็ต้องพยายามปฏิบัติตาม ถ้าเราไม่ปฏิบัติเองก็จะเป็นคนดีไม่ได้

แต่เท่าที่สังเกตเห็นผลผลิตออกมา ส่วนใหญ่มักจะเป็นคนมีความรู้แต่ขาดคุณธรรม อันนี้เป็นลักษณะร่วมของคนในปัจจุบันที่เหมือนกันหมดทุกประเทศ การเป็นคนดีต้องอาศัยการฝึกฝนบังคับใจตนเอง แต่คนส่วนใหญ่ในโลกนี้จะไม่ฝึกตน ชอบทำตามใจตนเอง ไม่ยอมบังคับใจตนเอง

พระพุทธองค์ทรงแสดงความจริงในโลกอย่างหนึ่งคือ “ทุศีโล พหุชโน” คนส่วนใหญ่ในโลกเป็นคนทุศีล ขาดกัลยาณธรรม

ดังนั้น จึงเป็นความรับผิดชอบของเราทุกคน ที่จะต้องเรียนรู้และฝึกฝนตนเอง ดังที่พระพุทธองค์ทรงสอนว่า “อัตตานัง ทมยันติ บัณฑิตา” บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกตน ถ้าเราไม่ฝึกตน เราก็ต้องรับเคราะห์กรรมของเราไปเอง คนไม่ฝึกตนจะไม่พบกับความสุขความเจริญ


การประพฤติธรรมจึงเป็นมงคลสูงสุดในมงคล 38 (มงคลสูตร ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ) ซึ่งเป็นหลักการดำเนินชีวิตของเราชาวพุทธนั่นเอง ชาวพุทธที่ไม่ปฏิบัติธรรม แต่หลงใหลไปตามวัตถุนิยม มุ่งหาแต่เงิน ไม่หาอริยทรัพย์ ประกอบอาชีพโดยไม่สุจริต หลอกลวง คดโกง ก็จะพบกับความเสื่อมทั้งสิ้น ดังนั้น จิตตภาวนาจึงสำคัญมากสำหรับคนในยุคปัจจุบัน

ปัจจุบัน งานวิจัยต่างๆก็แสดงให้เห็นแล้วว่า การเจริญสติจะช่วยปลูกฝังคุณธรรมลงในใจของเด็ก ดังนั้น ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จึงมีองค์กรต่างๆเกิดขึ้นมากมายในการช่วยสอนเด็กให้เรียนรู้เรื่องการเจริญสติ เพราะถ้าเด็กมีสติรู้ตัว ก็จะสามารถควบคุมอารมณ์และความคิดของตนได้ เด็กก็จะมีวุฒิภาวะในตนเอง เป็นคนดีมีเหตุผล เพราะสติเป็นธรรมฝ่ายกุศล เวลาเรามีสติ เราก็จะคิดดีทำดี นั่นหมายถึงว่าเราจะต้องให้เด็กมีโอกาสในการฝึกการเจริญสติ เพื่อให้เขานำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างองค์กรหนึ่งซึ่งทำงานด้านนี้ คือ Mindful Schools เป็นองค์กรเอกชน ไม่แสวงหากำไร อยู่ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา งานหลักขององค์กรนี้คือ สอนการเจริญสติให้นักเรียน ตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนถึงเกรด 12 รวมทั้งครู และผู้ปกครอง

ปัจจุบัน องค์กรนี้ได้สอนนักเรียนไปแล้วราว 18,000 คน ครู 750 คน ในโรงเรียนต่างๆ 75 แห่ง และจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการให้กับครู และผู้ปกครอง ในโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน 3,500 คน

องค์กรแห่งนี้ก่อตั้งโดย มีแกน โคแวน (Megan Cowan) และ ริชาร์ด แชงค์แมน (Richard Shankman) ทำงานเป็นทีมร่วมกับเพื่อนหนุ่มสาวหลายคน

โคแวนจบทางด้านการพัฒนาสุขภาพด้วยจิตตภาวนา (Comtemplative Health and Healing) และเริ่มฝึกการเจริญสติในปี 1996 เธอเริ่มสอนเด็กนักเรียนในปี 1999 จนถึงปัจจุบัน โดยมีประสบการณ์สอนนักเรียนในโปรแกรมต่างๆราว 2,000 คน และครูประมาณ 200 คน (ท่านผู้อ่านเข้าไปดูข้อมูลได้ใน www.mindfulschools.org)



(มีแกน โคแวน ผู้ก่อตั้ง องค์กร Mindful Schools)


นอกจากนั้น เธอยังให้คำปรึกษาผู้ปกครองที่มีปัญหา โดยใช้การเจริญสติเข้ามาช่วย องค์กรนี้มีนักวิชาการหลายท่านจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมกันเป็นกรรมการวิจัย และมีอาสาสมัครช่วยงานด้านต่างๆจำนวนมาก

เมื่อเร็วๆนี้ Mindful Schools ได้เปิดเผยงานวิจัยขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยทำมา โดยทีมงานได้ทำการศึกษาในนักเรียน 977 คน ครู 58 คน ในโรงเรียน 8 แห่ง ที่เข้ารับการฝึกอบรมการเจริญสติ ในโปรแกรมต่างๆ พบว่า ช่วยให้สมาธิดีขึ้น ความรู้สึกตัวดีขึ้น ความเครียดลดลง บรรยากาศในการเรียนการสอนดีขึ้น เด็กรู้สึกอ่อนโยน ความรุนแรงลดลง สามารถแก้ปัญหาขัดแย้งได้ดีขึ้น เด็กสามารถจัดการกับอารมณ์ด้านลบได้ดีขึ้น มีความเมตตากรุณา และเข้าใจผู้อื่นได้ดีขึ้น และจากการตอบแบบสอบถามของผู้เข้าอบรมพบว่า ร้อยละ 80 ขึ้นไป ตอบว่าได้รับประโยชน์และพอใจกับการฝึกการเจริญสติ

ท่านผู้อ่านอาจจะเข้าไปดูผลงานวิจัยที่ www.mindfulschools/mindfulness research และฟังคำบรรยายของ มีแกน โคแวนได้ใน youtube โดยพิมพ์คำว่า Megan Cowan: integrating mindfulness into the K5 Classroom, เรื่อง Mindful schools news clip, เรื่อง Mindful schools in-class instruction ก็จะสามารถสัมผัสได้กับบรรยากาศการเรียนการสอนในชั้นเรียนของเขา

 

ยังมีอีกหนึ่งองค์กรที่สอนการเจริญสติแก่เด็ก ซึ่งมีผลงานน่าสนใจมาก คือ มูลนิธิ Inner Kids Foundation ก่อตั้งโดย ซูซาน ไคเซอร์ กรีนแลนด์ (Susan Kaiser Greenland) ซึ่งเธอสอนการเจริญสติในเด็กนักเรียน ก่อนหน้านั้นเธอเป็นทนายความ จบทางด้านกฎหมาย อาศัยอยู่กับสามีและลูก 2 คนในนครลอสแองเจลิส ต่อมาเธอเกิดปัญหาในครอบครัว ทำให้เครียดมาก จึงหาวิธีการฝึกสมาธิแบบต่างๆ ซึ่งเธอพบว่า การเจริญสติช่วยให้มีความสงบ มีสมาธิ สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้

ต่อมาเมื่อลูกๆของเธอเริ่มโตขึ้น ก็มีปัญหาเรื่องความเครียดในการเรียน การเข้ากับเพื่อน มีปัญหาทางอารมณ์และพฤติกรรมในวัยรุ่น เธอจึงคิดสอนลูกให้รู้จักการเจริญสติ โดยฝึกร่วมกันกับลูก แล้วก็พบว่า ช่วยให้ลูกผ่อนคลายได้มาก สมาธิดีขึ้น ทำให้การเรียนดีขึ้น ความประพฤติของเด็กก็ดีขึ้นด้วย จึงเป็นที่มาซึ่งทำให้เธอเปลี่ยนอาชีพจากทนาย มาเป็นครูสอนการเจริญสติ เธอและสามีได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิชื่อว่า InnerKids Foundation ทำงานสอนการเจริญสติแก่เด็กในโรงเรียน (www.susankaisergreenland.com)

โปรแกรมของเธอชื่อ Inner kids program เธอได้ประยุกต์การฝึกการเจริญสติในผู้ใหญ่มาใช้กับเด็ก โดยใช้การเล่นเกมส์ การร้องเพลง กิจกรรมต่างๆ นำมาสู่การมีสติในลมหายใจ การมีสติในใจตนเอง เพื่อพัฒนาให้เด็กรู้จักการกำหนดรู้อารมณ์ ความคิด ความรู้สึกภายในตนเอง

ยกตัวอย่างเช่น เธอใช้ลูกแก้วทำด้วยพลาสติกใสๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 8.10 ซม. ข้างในบรรจุน้ำ (crystal ball) และใส่ตะกอนเป็นเม็ดๆไว้ เวลาวางไว้เฉยๆ น้ำจะใส เธอนำลูกแก้วมาวางไว้ที่หน้า แล้วให้เด็กมองผ่านมาที่หน้าของเธอ เด็กจะเห็นใบหน้าของเธอชัดเจน เธอสอนว่า นี่เป็นเวลาที่ใจเราสงบ มันเหมือนน้ำที่นิ่งใส

ต่อมาเธอเขย่าลูกแก้วทำให้น้ำขุ่น คราวนี้เด็กไม่สามารถเห็นใบหน้าของเธอได้ชัดเจน เธอจึงสอนว่า นี่คือใจของเราเวลามีอารมณ์เครียด โกรธ เกลียด อิจฉา หงุดหงิด ก้าวร้าว ใจเราจะขุ่นมัวเหมือนลูกแก้วตอนนี้

ต่อมาเธอบอกให้เด็กหายใจเข้าและออกช้าๆ เฝ้าดูลมหายใจ ขณะที่เด็กกำลังปฏิบัติอยู่นั้น ตะกอนในน้ำเริ่มนอนก้น น้ำจึงกลับมาใสอีกครั้ง เด็กก็มองเห็นใบหน้าครูผ่านลูกแก้วได้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง

เธอจึงสอนว่า เมื่อเราทำใจให้สงบลง เราก็จะเริ่มเห็นคนอื่นและเข้าใจผู้อื่น เธอใช้วิธีการแบบนี้เพื่อฝึกการหายใจจนจิตสงบ เหมือนตะกอนนอนก้นในคริสตัลบอล และนี่เป็นตัวอย่างหนึ่งซึ่งเธอนำมาใช้ เพื่อให้เด็กเห็นเป็นรูปธรรม

โปรแกรมของเธอได้รับการทำวิจัยโดย ศูนย์การวิจัยการเจริญสติของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส Mindful Awareness Research center of UCLA, www. marc..ucla.edu) ในงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ได้ทำการศึกษาในเด็กเกรด 3 อายุ 7-9 ปี ให้ฝึกการเจริญสติตามโปรแกรม Inner Kids สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละครึ่งชั่วโมง เป็นเวลา 8 สัปดาห์ แล้วประเมินผล โดยให้ครูและผู้ปกครองกรอกแบบสอบถาม พบว่า เด็กที่ผ่านการฝึกจะมีความประพฤติดีขึ้น ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น ความเครียดลดลง เด็กจะมีความเมตตา และเป็นคนอ่อนโยน


การฝึกหัดแบบนี้จะช่วยให้เด็กรู้วิธีแก้ปัญหาความเครียดที่เกิดขึ้น โดยเด็กจะมีสติรู้ตัวในเวลาที่มีอารมณ์เครียดเกิดขึ้นในจิตใจของตนเอง ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เด็กสามารถจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ เด็กอาจจะเริ่มหายใจเข้าออกยาวๆ ตามที่ได้ฝึกมา แล้วใช้สติกำหนดรู้ที่ลมหายใจ จนใจเริ่มสงบลง อาศัยการให้เด็กได้ฝึกหัดบ่อยๆ ก็จะทำได้ชำนาญ ฯ

---------------------------------------------------

 

เรียบเรียงใหม่โดย: สำนักงานกำกับดูแลพระธรรทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ

ที่มา/ข้อมูล: http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9580000099005

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้