Last updated: 20 ส.ค. 2559 |
การศึกษา กรมศาสนาหนุนร่าง ‘พ.ร.บ.ส่งเสริมนมัสการสังเวชนียสถาน’ ช่วยดูแล ‘อาหาร-ที่พัก-เจ็บป่วย’ ผู้แสวงบุญชาวไทย
นายประภาส แก้วสวรรค์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมเครือข่ายคุณธรรมจริยธรรม สำนักพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม กรมการศาสนา (ศน.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในฐานะผู้จัดทำโครงการส่งเสริมพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนไปนมัสการสังเวชนียสถาน 4 ตำบลประเทศอินเดีย-เนปาล เปิดเผยว่า กรณีพระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม หัวหน้าฝ่ายวิชาการ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมนมัสการสังเวชนียสถาน พ.ศ. … ต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อผลักดันให้มีกฎหมายรองรับชาวพุทธไทยที่ไปแสวงบุญที่ประเทศอินเดียนั้น
เนื่องจากตนเป็นผู้ดูแลโครงการส่งเสริมพระสงฆ์ และฆราวาสเดินทางไปแสวงบุญที่อินเดีย จึงทราบว่าปัจจุบันคนไทยมีโอกาสน้อยมากที่จะเดินทางไปแสวงบุญ เพราะการเดินทางไปอินเดีย-เนปาล จะต่างกับพี่น้องชาวมุสลิมที่ไปประกอบพิธีฮัจย์ที่นครมักกะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย เนื่องจากมี พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ.2524 รับรองตั้งแต่กระบวนการเดินทาง การตั้งกองทุนสำรอง รวมถึง มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คอยอำนวยความสะดวก แต่ในส่วนของชาวพุทธยังไม่มี
“ในการแสวงบุญช่วงหลังของชาวพุทธ ต้องอาศัยพระธรรมทูตที่สร้างวัดไทยในเมืองที่มีสังเวชนียสถาน คอยอำนวยความสะดวกด้านที่พักอาศัยตามกำลังศรัทธาของญาติโยมที่บริจาค เพราะไม่มีงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ” นายประภาสกล่าว
นายประภาสกล่าวต่อว่า การเดินทางไปแสวงบุญของคนไทยอีกส่วน คือเดินทางแบบตัวใครตัวมัน ทำให้ผู้แสวงบุญบางท่านต้องเผชิญความลำบากจนถึงขั้นเสียชีวิตก็มี แต่ไม่สามารถนำศพกลับไปทำพิธีที่ประเทศไทยได้ เพราะค่าใช้จ่ายสูงมาก ส่วนปัญหาที่พบที่อินเดียหลักๆ อาทิ ไม่ได้รับความสะดวกในเรื่องที่พักอาศัย อาหารการกิน ไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแลขณะเจ็บป่วย เป็นต้น
ฉะนั้น หากรัฐส่งเจ้าหน้าที่จาก สธ.ไปประจำตามศูนย์อำนวยความสะดวก ตามจุดที่มีสังเวชนียสถานจะดีมาก เพราะสังเวชนียสถาน 4 ตำบลอยู่ห่างไกลกัน ผู้แสวงบุญต้องเดินทางด้วยความทรหด ดังนั้น หากมีหน่วยงานใดผลักดันให้เกิดกฎหมายให้รัฐส่งเสริมให้คนไทยไปสังเวชนียสถาน ถือเป็นสิ่งที่ดี
----------------------------------------------------
ที่มา: http://www.matichon.co.th/news/255747