วัดเบญจมบพิตรฯ ต้อนรับราษฎรบนพื้นที่สูง ๙๙๙ คน ร่วมอาลัยพ่อหลวง ร.๙

Last updated: 14 พ.ย. 2559  | 

วัดเบญจมบพิตรฯ ต้อนรับราษฎรบนพื้นที่สูง ๙๙๙ คน ร่วมอาลัยพ่อหลวง ร.๙

วัดเบญจมบพิตรฯ ต้อนรับราษฎรบนพื้นที่สูง ๙๙๙ คน ร่วมอาลัยพ่อหลวง ร.๙


“วันก่อนพ่อหลวงขึ้นดอยมาหาเรา วันนี้เราลงดอยมาหาพ่อหลวง”

(เมื่อวันพุธที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๙) พระเดชพระคุณ พระเทพกิตติเวที เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร ให้การต้อนรับ พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และผู้แทนราษฎรบนพื้นที่สูง ๙ ชนเผ่า พร้อมด้วยบุคคลในภาพผู้เคยร่วมรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดีจักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร จำนวน ๙ เหตุการณ์แห่งความทรงจำซึ่งราษฎรบนพื้นที่สูงที่เดินทางมา ประกอบด้วย ๙ ชนเผ่า ได้แก่ กระเหรี่ยง ๒๔๙ คน ม้ง ๒๐๗ คน ลาหู่ ๙๙ คน อาข่า ๙๙ คน เมี่ยน ๙๙ คน ลีซู ๙๙ คน ลัวะ ๔๙ คน ขมุ ๔๙ คน ถิ่น ๔๙ คน รวม ๙๙๙ คน

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการร่วมกับวัดเบญจมบพิตร ดุสิตวนารามราชวรวิหาร และเครือข่ายภาคประชารัฐ ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โรงพยาบาลตำรวจ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริษัทคาราบาวตะวันแดง จำกัด บริษัทเคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด และกรุงเทพมหานคร ร่วมจัดกิจกรรม “๙๙๙ ดวงใจ ร่วมอาลัยพ่อหลวง” เพื่อแสดงความอาลัยและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดีจักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร ที่มีต่อราษฎรบนพื้นที่สูงโดยจุดเริ่มต้นของการเดินทาง

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่พร้อมด้วยหน่วยงานสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กองบังคับการตำรวจตะเวนชายแดน ภาค ๓ ร่วมดูแลอำนวยความสะดวกในการเดินทางโดยขบวนพิเศษของการรถไฟแห่งประเทศไทยสู่ปลายทางสถานีรถไฟหัวลำโพง และเดินทางต่อโดยขบวนรถบัส ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพสู่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดสำคัญที่จัดกิจกรรมพัฒนาและบรรพชาอุปสมบทหมู่ชาวเขามาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ และเดินทางต่อไปพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง เพื่อเข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ


พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้น้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางในการพัฒนาคนตามหลักการ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา มาขับเคลื่อนงานคามแนวพระราชดำริ เกี่ยวกับการพัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง อาทิ โครงการหลวง โครงการในพระราชดำริ โครงการพระธรรมจาริก งานสังคมสงเคราะห์ราษฎร งานพัฒนาพื้นที่สูง เพื่อมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิต และส่งเสริมให้ราษฎรบนพื้นที่สูงสามารถดำรงชีวิตภายใต้หลักภูมิสังคม และเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของตนเอง โดยมีศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง ๑๖ แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ ๒๐ จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ เลย เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ราชบุรี ลำปาง ลำพูน อุทัยธานี และสุพรรณบุรี ดูแลราษฎรพื้นที่สูง ๑๐ เผ่า ๓๔๒,๖๕๒ ครอบครัว จำนวน ๑,๔๔๑,๑๓๕ คน 

ซึ่งราษฎรบนพื้นที่สูงที่เดินทางมา ประกอบด้วย ๙ ชนเผ่า ได้แก่ กระเหรี่ยง ๒๔๙ คน ม้ง ๒๐๗ คน ลาหู่ ๙๙ คน อาข่า ๙๙ คน เมี่ยน ๙๙ คน ลีซู ๙๙ คน ลัวะ ๔๙ คน ขมุ ๔๙ คน ถิ่น ๔๙ คน และบุคคลในภาพแห่งความทรงจำ ๙ เหตุการณ์ ได้แก่ นายอันไช แซ่ย่าง ชนเผ่าม้ง ผู้เคยร่วมทำพิธีผูกขวัญข้อพระกร เมื่อครั้งเสด็จหมู่บ้านแม่สาใหม่ ตำบลแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๑ นายจอนิ โอ่โดเชา ชนเผ่ากระเหรี่ยง ผู้เคยเข้าเฝ้าเมื่อครั้งเสด็จโครงการหลวงขุนวางและสถานีทดลองการเกษตร ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๘ นายเจริญ ไชยกอ ชนเผ่าลาหู่ ผู้เคยเข้าเฝ้าถวายของที่ระลึกเมื่อครั้งเสด็จบ้านห้วยลึก ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๗ ซึ่งภาพดังกล่าวได้ถูกจัดพิมพ์เป็นด้านหลังธนบัตรฉบับละ ๑๐๐ บาท เนื่องในวาระสมโภชน์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๗ รอบ รวมจำนวนทั้งสิ้น ๙๙๙ คน

 

โดย: สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ

ขอบคุณภาพ/ข้อมูล: พระชัยวัฒน์ วัดเบญจมบพิตร

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้