13 สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญวัดสระเกศ ที่ต้องสักการะเมื่อมาไหว้บรมบรรพต ภูเขาทอง เมื่อมาวัดสระเกศ ควรจะไหว้ที่ไหนบ้าง รวมประวัติ ๑๓ สิ่งสำคัญภายในวัดสระเกศ และคติการสักการะ

Last updated: 10 ม.ค. 2562  | 

13 สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญวัดสระเกศ ที่ต้องสักการะเมื่อมาไหว้บรมบรรพต ภูเขาทอง เมื่อมาวัดสระเกศ ควรจะไหว้ที่ไหนบ้าง รวมประวัติ ๑๓ สิ่งสำคัญภายในวัดสระเกศ และคติการสักการะ

 

 
13 สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญวัดสระเกศ ที่ต้องสักการะเมื่อมาไหว้บรมบรรพต ภูเขาทอง
เมื่อมาวัดสระเกศ ควรจะไหว้ที่ไหนบ้าง รวมประวัติ ๑๓ สิ่งสำคัญภายในวัดสระเกศ และคติการสักการะ

 

1.พระวิหาร
 สวยงามสูงเด่นเป็นสง่า  มีหลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบ  มีช่อฟ้า ใบระกา  หน้าบันทั้งสองด้านประดับด้วยกระจกสีวิจิตรงดงาม  เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่สำคัญ ๒ องค์ด้วยกัน  คือพระอัฏฐารส  และหลวงพ่อดุสิต

2.พระอุโบสถ

เป็นสถานที่ประดิษฐานพระปางสมาธิ ซึ่งเป็นพระปั้นปิดทองปางสมาธิที่ใหญ่โต  พร้อมด้วยความสมพุทธลักษณองค์หนึ่งในกรุงเทพมหานคร . ที่ฝาผนังด้านใน  ระหว่างซุ้มหน้าต่างเป็นภาพทศชาติส่วนด้านบนเป็นภาพเทวดาและท้าวจตุโลกบาล  ส่วนด้านหน้าเป็นภาพมารวิชัย  ส่วนด้านหลังพระประธานเป็นภาพไตรภูมิคือ. ภาพสวรรค์  มนุษย์  และนรก

 



 
3.พระวิหารหลวงพ่อดำ
องค์นี้เป็นพระปิดทองปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๔ ศอก สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือปั้นยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นพระพุทธรูปที่คู่กับบรมบรรพต(ภูเขาทอง) มาตั้งแต่ต้น เล่ากันว่าสร้างไว้เพื่อให้เจ้านายและพุทธบริษัททั่วไป ที่ไม่สามารถขึ้นไปบูชาองค์พระบรมบรรพตได้บูชาที่พระพุทธรูปองค์นี้


 4.หอไตร
เรียกเต็มว่า “หอพระไตรปิฎก” ซึ่งเป็นที่เก็บคัมภีร์พระพุทธศาสนา นับตั้งแต่พระไตรปิฎกอรรถกถา ฎีกา และสัททาวิเศษ ตลอดจนอุปกรณ์ ต่าง ๆ รวมเรียกว่า ”พระธรรม” เป็นหอสมุดประจำวัด ตั้งอยู่ที่คณะ ๑๐ ด้านทิศใต้ของพระบรมบรรพตภูเขาทอง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดให้สร้างขึ้น และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงโปรดให้ทำการบูรณะ

 

5.พระวิหารหลวงพ่อโต
พระพุทธรูปมารวิชัยองค์นี้  เป็นพระพุทธรูปหล่อปิดทองในสมัยรัชกาลที่ ๓ หน้าตักกว้าง ๗ ศอก ๑ คืบ ส่วนสูง ๑๐ ศอก นับว่าเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะที่ใหญ่องค์หนึ่ง  ชาวบ้านจึงเรียกว่า “หลวงพ่อโต” ซึ่งประดิษฐานอยู่เชิงพระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) ด้านทิศเหนือ ตามประวัติได้บันทึกเอาไว้ว่า  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้มีพระราชศรัทธาให้สร้างหลวงพ่อโตไว้  ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้นำมาประดิษฐานไว้ที่วัดสระเกศตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงปัจจุบัน  หลวงพ่อโตองค์นี้มีพุทธศาสนิกชนผู้เคารพนับถือเลื่อมใสมาสักการะบูชาเป็นประจำโดยเฉพาะผู้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงถือว่า  “เป็นหลวงพ่อที่ให้ความคุ้มครองให้ความสุขความเจริญ”

6.พระประธาน พระอุโบสถ วัดสระเกศ

ลักษณะของพระพุทธรูปประธานเป็นพระพุทธรูปางสมาธิซึ่งไม่ค่อยพบมากนักใน งานช่างไทย ลักษณะโดยรวมแล้วใกล้เคียงกับพระพุทธรูปในสมัยอยุธยา จึงแสดงให้เห็นงานที่สืบต่อมาจากสมัยก่อน ตรงตามประวัติที่กล่าว่ารัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพอกทับพระประธานองค์เดิม ลักษณะดังกล่าวเป็นงานช่างในสมัยนี้ซึ่งต่างจากงานช่างในสมัยรัชกาลที่ ๓ ที่จะมีพระพักตร์อย่างหุ่นอันเป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นในภายหลัง ลักษณะของพระพุทธรูปประธานมีลัพระพักตร์ค่อนข้างสี่เหลี่ยมแบบอยุธยา ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลวสูง พระโอษฐ์กว้างแบบอยุธยา ลักษณะชายสังฆาฏิที่ซ้อนทับกันแบบเดียวกับพระพุทธรูปอยุธยาตอนปลายในสมัยของ พระเจ้าปราสาททอง มีส่วนที่แตกต่างคือในสมัยรัตนโกสินทร์นิยมทำสังฆาฏิพาดกึ่งกลางพระวรกาย ในขณะที่พระพุทธรูปสมัยอื่นๆ นั้นชายสังฆาฏิจะอยู่ทางเบื้องซ้าย

 

7.หลวงพ่อดำ
องค์นี้เป็นพระปิดทองปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๔ ศอก สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือปั้นยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นพระพุทธรูปที่คู่กับบรมบรรพต(ภูเขาทอง) มาตั้งแต่ต้น เล่ากันว่าสร้างไว้เพื่อให้เจ้านายและพุทธบริษัททั่วไป ที่ไม่สามารถขึ้นไปบูชาองค์พระบรมบรรพตได้บูชาที่พระพุทธรูปองค์นี้

 

 

8.พระอัฏฐารส
มีพระนามเต็มว่า พระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร  เป็นพรพุทธรูปที่มีความสำคัญองค์หนึ่งในกรุงเทพมหานครเป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ  ซึ่งหล่อปิดทองขนาดใหญ่มาก  สูงถึง ๕ วา ๑ ศอก ๑๐ นิ้ว (๒๑ ศอก ๑ นิ้ว) ประดิษฐานอยู่ชุกชี ในพระวิหาร ธรรมดาเมืองหลวงแต่ก่อนย่อมมีพระอัฏฐารสเป็นประจำราชธานี  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ( ร.๓ ) ทรงโปรดให้อัญเชิญพระอัฏฐารสมาจากวัดวิหารทอง เมืองพิษณุโลก มาประดิษไว้ ณ พระวิหารแห่งนี้  อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทอดพระกฐินที่วัดสระเกศแห่งนี้  ย่อมเสด็จมาทรงจุดธูปเทียนถวายสักการะพระอัฏฐารสก่อน แล้วจึงเสด็จเข้าพระอุโบสถ

 

หลวงพ่อดุสิต
พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพุทธรูปศิลป์สกุลช่างรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ อัญเชิญมาประดิษฐานในห้องหลังพระอัฏฐารส

 

9. “หลวงพ่อโชคดี”

มีพระนามเต็มว่า "พระพุทธมงคลสุวรรณบรรพต” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หรือปางชนะมาร ขนาด ๓๙ นิ้ว

มีพุทธลักษณะพุทธศิลป์ มีความโดดเด่น ด้วยพระเกศมีลักษณะเปลวเพลิงหล่อด้วยเงิน บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มีความงดงาม

ด้วยศิลปะสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ถวายพระนามโดย เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งนับเป็นพระพุทธรูปองค์สุดท้ายที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นประธานเททองหล่อ และมีบัญชาให้ประดิษฐาน ณ ศาลาสุวรรณบรรพต วัดสระเกศ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

ด้านหลังพระประธาน มีจิตรกรรมฝาผนังต้นดอกมณฑาทิพย์ ประตููมณฑาทิพย์โปรยฟ้า ประตูพฤกษาภิรมย์ และพญานาค ๔ ตระกูล


มีคติแห่งการสักการะหลวงพ่อโชคดี ว่า ผู้ใด ได้สักการะบูชา ย่อมประสบสิ่งที่ใจปรารถนาทุกประการ

10."หลวงพ่อดวงดี”

มีพระนามเต็มว่า “พระพุทธมงคลบรมบรรพต” เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ หรือปางตรัสรู้ มีพุทธลักษณะพุทธศิลป์แห่งพุทธศตวรรษที่ ๒๖ มีความงดงาม โดดเด่น ด้วยศิลปะสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ หล่อขึ้นจากแผ่นดวงมหาโภคทรัพย์ที่บรรจุอยู่ บนยอดบรมบรรพต ภูเขาทอง ถวายพระนามโดย เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และมีบัญชาให้ประดิษฐาน ณ ศาลาสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

นอกจากนั้น ที่ศาลาหลวงพ่อหลวงดี ยังเป็นที่ประดิษฐานปฏิมากรรมและรูปหล่อ ตลอดจนจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับประวัติเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) และจิตรกรรมฝาผนังไตรภูมิจักรวาล และแสนโกฏิจักรวาล อันวิจิตรงดงาม

มีคติแห่งการสักการะหลวงพ่อดวงดีว่า ผู้ใด ได้สักการะบูชา จะมีดวงชะตาที่ดี เป็นที่รักของมิตรสหาย ปลอดภัยจากอุปสรรคนานาประการ



11.หลวงพ่อโต

พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปหล่อ ปิดทองในสมัยรัชกาลที่ ๓ หน้าตักกว้าง ๗ ศอก ๑ คืบ สูง ๑๐ ศอก นับว่าเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะที่ใหญ่มากองค์หนึ่ง พระพุทธรูปที่ใหญ่ขนดานี้ส่วนมากปั้นด้วยปูน ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อโต” คงจะเนื่องจากเป็นพระพุทธรูปใหญ่นั้น 

 

 

12.ศาลาการเปรียญ

ศาลาการเปรียญแห่งนี้  เป็นสถานที่สำคัญตามประวัติศาสตร์  มีตำนานเนื่องในพระราชพงศาวดารว่าเมื่อวันเสาร์  เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ  ปีขาล จัตวาศก  จุลศักราช ๑๑๔๔  ตรงกับ  พุทธศักราช ​ ๒๓๒๕  คราวที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ครั้นดำรงพระยศเป็น  สมเด็จพระเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก)  เสร็จการศึกสงครามจากเขมร  เสร็จเข้าโขลนทวาร  ประทับสรงมุรธาภิเษก  ก่อนเสร็จขึ้นครองราชย์และสถาปนา “ราชจักรีวงศ์” จากนั้นได้พระราชทานเปลี่ยนชื่อวัดสะแกเดิมเป็น  วัดสระเกศ  ราชวรมหาวิหาร
      ครั้นต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างศาลาการเปรียญหลังนี้ขึ้นเพื่อรักษาบ่อน้ำ  มุรธาภิเษก อันสำคัญไว้
(บูรณะเมื่อ พุทธศักราช ๒๕๕๖)

 กราบสักการะ รูปเหมือนเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)  ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช

13. ต้นพระศรีมหาโพธิ์

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โปรดให้คณะสมณทูตที่พระองค์ทรงส่งไปลังกานำหน่อพระศรีมหาโพธิ์กลับมาด้วย ครั้งนั้นนำกลับมาถึงพระนครปลูกที่วัดมหาธาตุ 1 ต้น วัดสระเกศ 1 ต้น วัดสุทัศนเทพวราราม 1 ต้น  หน่อพระศรีมหาโพธิ์ 3 ต้นนี้ เป็นหน่อจากต้นที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ นับเป็นรุ่นที่ ๓

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้