เมรุปูน

Last updated: 19 ม.ค. 2559  | 

เมรุปูน

     พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) แต่ครั้งยังเป็นพระยาพิพัฒน์รัตนราชโกษา เป็นนายสร้างเมรุสร้างด้วยอิฐปูนล้วน เรียกว่า “ เมรุปูน ”สำหรับพระราชทานเพลิงพระศพเจ้านาย และศพข้าราชการผู้ใหญ่ เมรุปูนที่วัดสระเกศนี้ทำพร้องเพรียงสมบูรณ์ยิ่งกว่าเมรุปูนที่วัดอรุณ และวัดสุวรรณาราม มีสามสร้างรอบเมรุ มีพลับพลา โรงธรรม โรงครัว โรงมหรสพ ตลอดจนพุ่มกัลปพฤกษ์ และระทาจุดดอกไม้ล้วนทำด้วยอิฐปูนพร้อมเสร็จแทบจะไม่ต้องปลูกอะไรเลย สมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ตัดถนนสระประทุมต่อจากถนนบำรุงเมืองถนนนี้ผ่านไประหว่างกุฎีวัดสระเกศกับบริเวณเมรุปูนจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพลับพลา และแก้ไขบริเวณเมรุปูนให้เข้ากับถนน เมรุปูนนี้จึงนับเป็นเมรุเกียรติยศที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ เหมือนอย่างเมรุราชอิศริยาภรณ์วัดเทพศิรินทราวาสในปัจจุบัน

     เมื่อเมรุตั้งติดกับถนนและอาคารบ้านเรือน จึงไม่เหมาะที่จะทำการฌาปนกิจศพ และเมรุเกียรติยศจึงได้ย้ายไปตั้งอยู่ที่วัดเทพศิรินทราวาส และได้ยุบเลิกเมรุปูนเสีย แต่ชื่อยังปรากฏอยู่จนบัดนี้ ต่อมาทางวัดได้มอบสถานที่นั้นให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนช่างไม้ เรียกว่า “โรงเรียนช่างไม้วัดสระเกศ” ต่อมาเปลี่ยนเป็น ”โรงเรียนสารพัดช่างพระนคร” และปัจจุบันเป็น “วิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร”


เมรุปัจจุบัน

     แม้จะย้ายเมรุเกียรติยศไปแล้ว แต่ศพพราษฎรสามัญได้ตั้งและเผาที่เมรุซึ่งตั้งอยู่ข้างบรมบรรพต เป็นเมรุทำด้วยไม้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ สมัยเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถระ ครั้งทรงสมณะศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ได้ทรงสร้างเป็นเมรุถาวรก่ออิฐถือปูนพร้อมด้วยศาลาใหญ่ สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ ๘ แสนบาทเศษ


ปรับปรุงเป็นฌาปนสถานคุรุสภาวัดสระเกศ

     ต่อมา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ ทางคุรุสภาได้พิจารณาเห็นว่าเนื่องจากคุรุสภายังไม่มีฌาปนสภานของคุรุโดยเฉพาะ จึงได้ดำริที่จะตั้งฌาปนสถานของคุรุสภาขึ้นในวัดใดวัดหนึ่งเพื่อเพิ่มพูนสวัสดิการแก่คุรุสภา นาย นาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา ซึ่งเป็นเลขาธิการสภาในสมัยนั้น ได้เสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา คณะกรรมการคุรุสภาได้เห็นชอบด้วย จึงตั้งคณะกรรมการพิจารณาวางโครงการและวิธีดำเนินงานเกี่ยวกับการฌาปนสภานขึ้น

     คณะกรรมการได้พิจารณาเลือกวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหารซึ่งเป็นสถานที่กว้างขวาง การจราจรสะดวกและมีเมรุอยู่แล้ว จึงได้ติดต่อกับวัดสระเกศ เวลานั้น พระธรรมเจดีย์ (เทียบ ธมฺมธโร ) เป็นเจ้าอาวาส และได้รับความสนับสนุนร่วมมือจากพระเทพคุณาภรณ์ ( เกี่ยว อุปเสโณ ) รองเจ้าอาวาส ซึ่งเจ้าอาวาสให้เป็นผู้แทนท่านเป็นอย่างดี เมื่อคณะกรรมการชุดนี้ได้พิจารณาวางโครงการและวิธีดำเนินการเสร็จแล้ว คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา จึงตั้งคณะกรรมการอำนวยการฌาปนสถานคุรุสภาขึ้น เพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการบริหารงานให้ได้ผลเต็มที่คณะกรรมการนี้หระกอบด้วยอธิบดีกรมการศาสนาเป็นประธานกรรมการเจ้าอาวาสวัดสระเกศ หรือผู้ช่วยวัดสระเกศเป็นกรรมการ พร้อมกับบุคคลที่มีชื่ออื่นๆๆ ร่วมเป็นกรรมการด้วย โดยมีวัตถุประสงค์ช่วยสมาชิกคุรุสภา ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ และครอบครัว ตลอดจนพระภิกษุสงฆ์ คนวัด และบุคคลทั่วไป


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้