Last updated: 18 ม.ค. 2559 |
“บรมบรรพต” นามพระราชทาน ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนชื่อเดิมคือ “พระเจดีย์ภูเขาทอง” แต่ชาวไทยนิยมเรียกง่ายๆ กันว่า เจดีย์ภูเขาทอง พระเจดีย์องค์นี้ นับเป็นพุทธสถานที่สำคัญของวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เหมือนกับพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร นับเป็นสัญลักษณ์ของวัดที่คนทั่วโลกรู้จักกันมากกว่าพุทธสถานรอบวัด และมุ่งมั่นที่จะได้ชมมรดกทางพุทธศิลป์แห่งนี้
พระเจดีย์ภูเขาทององค์นี้สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวาระที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดสระเกศครั้งใหญ่นั้น ทรงมีพระราชประสงค์จะสร้างพระเจดีย์เหมือนอย่างวัดภูเขาทองที่กรุงศรีอยุธยา มีคลองมหานาคล้อมรอบวัด และเป็นคลองที่ชาวพระนครจัดเป็นที่ชุมนุมรื่นเริงลอยเรือเล่นสักวากันครั้งสมัยรัชกาลที่ ๑ เหมือนอย่างการละเล่นของชาวกรุงศรีอยุธยาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค) ครั้งมีตำแหน่งเป็นพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาเป็นแม่กองในการสร้าง (ปัจจุบันน่าจะเป็นตำแหน่งประธานอำนวยการโครงการฯ ผู้เขียน)
แรกสร้างพระเจดีย์ภูเขาทองนั้น รูปแบบเป็นปรางค์องค์ใหญ่ฐานสี่เหลี่ยมแบบย่อไม้สิบสอง อันเป็นพุทธศิลปสถาปัตยกรรมที่นิยมสร้างในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ฐานกว้าง ๕๐ วา หรือ ๑๐๐ เมตร สูง ๙ วา หรือ ๑๘ เมตร โดยขุดรากลึกลงไปในดิน (ริมคลองเป็นดินโคลน) วางท่อนซุงเรียงเป็นแพอัดแน่น อันเป็นวิธีการสร้างฐานรากเหมือนตอกเสาเข็มแล้วถมดินและหินศิลาแลง จากนั้นก่ออิฐถือปูนครอบไว้ชั้นนอก ปรากฏว่าส่วนฐานล่างองค์พระเจดีย์รับน้ำหนักดิน หิน และ ศิลาแลงที่ถมไม่ได้ ส่วนบนยอดเจดีย์จึงทรุดลงจนไม่สามารถแก้ไขได้และมิได้สร้างต่อให้แล้วเสร็จ
ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) บุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ เป็นแม่กองซ่อมสร้างพระเจดีย์ภูเขาทองที่ทิ้งค้างไว้ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ต่อ โดยซ่อมแปลงแก้ไขพระปรางค์องค์ใหญ่ทำเป็นภูเขาทองทำบันไดเวียนสองข้างจนถึงยอดมีส่วนหนึ่งทำบันไดทอดตรงลงมา (คุณอเนก นาวิกมูล ได้เขียนเล่าเรื่องบันไดตรงส่วนหนึ่งของทางขึ้นภูเขาทอง ซึ่งได้รับคำอธิบายจากอาจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ ว่าแต่ก่อนเป็นทางที่พระสงฆ์เดินลงมารับบาตรจากพุทธบริษัทในเทศกาลตักบาตรเทโว เมื่อมีการซ่อมบูรณะในรัชกาลต่อมาจึงได้รื้อบันไดตรง ทำเฉพาะบันไดเวียนที่ปรากฏในปัจจุบัน) ครั้นถึงเดือน ๖ ปีฉลู (ประมาณเดินพฤษภาคม) พ.ศ. ๒๔๐๘ รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้ก่อพระเจดีย์ทรงระฆังไว้บนยอดเขาหนึ่งองค์ ได้เสด็จฯ วางศิลาฤกษ์และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มี “ละครใน” (ละครที่ผู้หญิงแสดงล้วน เป็นมหรสพในราชสำนัก) เป็นมหรสพฉลอง เมื่อแล้วเสร็จพระราชทานนามใหม่ว่า “บรมบรรพต”
เกร็ดประวัติบันทึกถึงผลงานพุทธศิลป์สมัยรัชกาลที่ ๔ นั้นต่างจากรัชกาลที่ ๓ เนื่องจากพระองค์ทรงผนวชนายถึง ๒๗ พรรษา ทรงรอบรู้หลักธรรมและทรงพระปรีชาในคัมภีร์สุริยะยาตร แม้การสร้างสถูปเจดีย์ทรงพอพระราชหฤทัยในแบบอย่างเจดีย์ทรงระฆังเหมือนกับพุทธิศิลป์สมัยกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา ดังนั้นพระพุทธเจดีย์ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างปรากฏเป็นรูปแบบของพระรัตนเจดีย์ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามพระปฐมเจดีย์ ที่เมืองนครปฐม และพระเจดีย์ภูเขาทองที่วัดสระเกศ เป็นต้น
การบูรณะซ่อมพระเจดีย์ภูเขาทองครั้งที่สองในสมัยรัชกาลที่ ๕ อันเป็นการซ่อมเสริมในส่วนที่ยังไม่เรียบร้อยต่อจากสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อแล้วเสร็จในวันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีฉลู (เทียบปฏิทินเก่าตรงกับ วันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๐) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่บูชาไว้ในพระบรมมหาราชวัง ประดิษฐานในพระเจดีย์ภูเขาทองเป็นครั้งแรก ปี พ.ศ. ๒๔๔๐ รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดให้มีงานนักขัตฤกษ์ฉลองพระเจดีย์ภูเขาทองและพระอารามหลวงวัดสระเกศ ระหว่างขึ้น ๘ – ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เป็นประจำทุกปี
ต่อมาวันอาทิตย์ที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธกรมขุนนครราชสีมา เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีอินเดีย และนำมาทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้วพระองค์โปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานในพระเจดีย์ภูเขาทองเป็นครั้งที่สอง การพระราชพิธีนั้นโปรดเกล้าฯ ให้มีพิธีฉลองทั้งกลางวันกลางคืน ๓ วัน พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์และถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์จำนวน ๑๐๐ รูป ตั้งบายศรีแก้ว เงิน ทอง และเวียนเทียนสมโภช กลางคืนจัดมหรสพสมโภช มีโขน หุ่น งิ้ว หนัง (น่าจะเป็นการแสดงหนังใหญ่ ผู้เขียน) มอญรำ สิงโต รำกระถาง ไม้ลอย ญวนหก (น่าจะเป็นการแสดงกายกรรม ผู้เขียน) และจุดดอกไม้เพลิงตามธรรมเนียมโบราณ
จากการพระราชพิธีฉลองใหญ่ในสมัยราชกาลที่ ๕ แล้วนานถึง ๕๐ ปีต่อมา สมัยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถร ครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมวโรดม เจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ ทรงมีบัญชาให้กรมชลประทานเป็นแม่กองทำการซ่อมครั้งใหญ่ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๓ – ๒๔๙๗ โดยให้หยุดงานนักขัตฤกษ์ประจำปีไว้ชั่วคราว การซ่อมใหญ่ ได้แก่ องค์พระเจดีย์ภูเขาทองที่ทรุดเอียงซ่อมเสริมเหล็กคานคอนกรีต ซ่อมกำแพงรอบนอกและบันได ตัดโค่นต้นไม้ที่รกทึบให้โล่งเตียน เมื่อแล้วเสร็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน เสด็จพระราชดำเนินยังมณฑลพิธี ณ บรมบรรพต ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเจดีย์ยอดพระมณฑป ครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๗ และเปิดให้มีงานเทศกาลนมัสการตามประเพณีโบราณฉลองกันตลอดมา
ต่อมในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ พลเอกประภาส จารุเสถียร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกรรมการอำนวยการบูรณะพระเจดีย์ยอดบรมบรรพต โดยบุโมเสกสีทองและสร้างพระเจดีย์ทองระฆังเล็กขึ้นอีกสี่มุม เมื่อแล้วเสร็จทันงานนมัสการประจำปีประกอบพรราชพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเจดีย์องค์เล็กในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๙
ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๐ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ถวายโมเสกสีทองแบบเรียบเพื่อซ่อมแซมพระเจดีย์ภูเขาทองอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ คณะกรรมการและพุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันทาสีองค์บรมบรรพตปรับปรุงปลูกต้นไม้ที่ฐานโดยรอบใหม่ เพื่อร่วมถวายเป็นพุทธบูชาและบำเพ็ญพระราชกุศลในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๗๒ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒
บรมบรรพตหรือพระเจดีย์ภูเขาทองปัจจุบันมีขนาดสูงจากฐานถึงยอด ๖๓.๖ เมตร ฐานโดยรอบมีเส้นผ่าศูนย์กลางกว้าง ๑๕๐ เมตร ฐานโดยรอบยาว ๓๓๐ เมตร มีบันไดทอดขึ้นเป็นบันไดเวียน ๓๔๔ ขั้น เมื่อเดินขึ้นสู่ยอดเขาบนลานพระเจดีย์สีทอง สามารถมองทัศนียภาพกรุงเทพมหานครได้รอบไกลถึงปลายขอบฟ้า ในสมัยที่ยังไม่มีตึกสูง บนลานพระเจดีย์ยังใช้เป็นที่สังเกตการณ์อัคคีภัยของพระนครด้วย ซึ่งด้านข้างวัดสระเกศมีสถานีดับเพลิงภูเขาทองอยู่ด้วย
เมื่อท่านได้ขึ้นมาสักการะพระบรมสารีริกธาตุบนยอดพระเจดีย์ภูเขาทองนี้ แล้วย้อนประมวลความคิดคำนึงถึงภาพเขียนหลังพระประธานในพระอุโบสถเรื่องไตรภูมิพระร่วง จะได้ข้อคิดในความเชื่อเรื่องภูมิจักรวาลที่ว่า มีเขาพระสุเมรุยอดเขาสูงสุดในจักรวาล คือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่ประทับของพระอินทร์ผู้ดูแลชั้นเหนือขึ้นไปเป็นที่สถิตของเทพและพระพรหม รอบเขาพระสุเมรุมีเขาสัตตบริภัณฑ์เจ็ดลูกล้อมอยู่โยรอบทั้งสี่ทิศ คือ อุตรคุรุทวีปบุรพวิเทหะทวีป ชมพูทวีปและอมรโคยานทวีป ส่วนที่เป็นชมพูทวีปคือโลกมนุษย์ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จจุติลงมาเกิดเพื่อโปรดเวไนยสัตว์มีขอบเจตเป็นป่าหิมพานต์ที่มีนทีสีทันดรล้อมรอบขอบจักรวาล นอกขอบเป็นแดนนรกภูมิ ส่วนบนฟ้ามีพระอาทิตย์ พระจันทร์ และดวงดาว คติจากไตรภูมิพระร่วงให้ข้อคิดว่าภูมิจักรวาลนั้นแบ่งออกเป็นสามชั้น คือ สวรรค์ โลกมนุษย์ และนรก
ขณะที่เดินลงจากยอดเขาถึงชั้นล่างเชิงเขาที่มีพรรณไม้นานาชนิดปลูกประดับอยู่โดยรอบฐานชั้นล่าง อันเป็นร่มเงาให้เราได้ร่มเย็นนั้น ป่ารอบเขานี้จึงเปรียบประดุจเป็นป่าหิมพานต์ หากท่านรู้จักพรรณไม้รอบเขาก็จะเพลินกับการชมพรรณไม้คลายความเมื่อยล้าลงได้