Last updated: 19 ม.ค. 2559 |
พระพุทธรูปองค์นี้ เป็นพระพุทธรูปหล่อ ปิดทอง ในสมัยรัชกาลที่ ๓ หน้าตักกว้าง ๗ ศอก ๑ คืบ ส่วนสูง ๑๐ ศอก นับว่าเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะที่ใหญ่มากองค์หนึ่ง พระพุทธรูปที่ใหญ่ขนาดนี้ส่วนมากปั้นด้วยปูน ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อโต” คงจะเนื่องจากเป็นพระพุทธรูปใหญ่นั้นเอง
หลวงพ่อโตประดิษฐานอยู่ที่บริเวณภูเขาทองมาเป็นเวลาช้านาน หันพระพักตร์ไปทางคลองมหานาค ที่ขุดผ่านบริเวณวัด หันหลังให้ภูเขาทองมีพระวิหารทำด้วยไม้ มีฝากั้นทำด้วยไม้เช่นกัน ส่วนฐานก่อนอิฐถือปูนสูงกว่าพื้นดินประมาณ ๓ เมตร เมื่อยังไม่มีห้องแถวฝั่งตรงกันข้ามคงจะมองเห็นเด่นชัด และสวยงาม เพราะมีคลองคั่นอยู่ด้วย
ประวัติหลวงพ่อโตที่พอจะนำมาอ้างได้ปรากฏอยู่ในหมายรับสั่ง ร.๓ เล่ม ๕ จ.ศ. ๑๒๑๒ มีความองค์ตอนหนึ่งว่า “พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระราชศรัทธาให้สร้างพระพุทธปฏิมากรพรองค์หนึ่ง หน้าตักกว้าง ๗ ศอกเศษ๒
มีคำเล่ากันมาว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดให้นำมาประดิษฐานไว้ที่วัดสระเกศในสมัยเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถระ ครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ทรงดำริที่จะนำหลวงพ่อโตเข้ามาประดิษฐานที่เชิงบรมบรรพต ภูเขาทองด้านทิศเหนือตรงกันกับที่ประดิษฐานเดิม เพื่อให้เหมาะสมกับที่เป็นปูชนียวัตถุสำคัญซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงสร้าง
เมื่อพระราชดำรินี้ได้ทราบถึง ดร.บุญรอด บิณฑสัณห์ และคุณหลวงสัมฤทธิวิศวกรรม จึงได้สละทรัพย์จำนวนแสนเศษเป็นค่าก่อสร้างฐานรองรับ ครั้นวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๖ ได้ประกอบพิธีอันเชิญขึ้นประดิษฐานบนฐานที่สร้างใหม่
ต่อมาทางวัดได้สร้างพระวิหารเพื่อให้เหมาะสมและสะดวกแก่ผู้ที่เคารพนับถือ เลื่อมใสมาสักการบูชาปรากฏว่า มีผู้มาสักการบูขาอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ถือว่า “เป็นหลวงพ่อที่ให้ความ คุ้มครอง ให้ความสุข ความเจริญ”